มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมขับเคลื่อนแผนสุขภาพจิตระดับเขต ยกระดับการดูแลนักศึกษาอย่างยั่งยืน 16 ธันวาคม 2567 นางสาวสิริลักษณ์ วงศ์ประสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา เข้าร่วมการประชุมชี้แจงสรุปผลการดำเนินงานและวางแผนพัฒนาสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย เขตสุขภาพที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2568 พร้อมด้วยผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานสุขภาพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ แกรนด์ พิษณุโลก การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายชูพงษ์ สังข์ผลิพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน พร้อมบรรยายเชิงนโยบายเรื่อง “โครงการพัฒนาระบบดูแลและช่วยเหลือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในกลุ่มนิสิต นักศึกษา และบุคลากรภายใต้การดูแลของเขตสุขภาพที่ 2 ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาและบุคลากรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ การใช้ Application “Dek Pibul” เพื่อตรวจสอบและดูแลสภาวะสุขภาพจิตของนักศึกษา การจัดโปรแกรมตรวจวัดความเครียดของบุคลากรผ่านเครื่อง Biofeedback รวมถึงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ “Mental Health Check-in PSRU” ที่ช่วยส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพใจในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวยังมีบุคลากรงานส่งเสริมอาชีพและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาภายใต้บริบทของสังคมยุคใหม่ พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของนักศึกษาและบุคลากรในทุกมิติ
PSRU CareCenter เป็นศูนย์บริการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและช่วยเหลือนักศึกษา และบุคคลทั่วไปใน มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีในมหาวิทยาลัย บริการของ PSRU CareCenter อาจรวมถึง:
1. บริการให้คำปรึกษา – ด้านจิตวิทยาและสุขภาพจิต: เพื่อช่วยผู้ที่มีความเครียด ความวิตกกังวล หรือปัญหาส่วนตัว – ด้านการเรียนและการทำงาน: เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเรียน การพัฒนาทักษะ หรือเส้นทางอาชีพ – การช่วยเหลือในเรื่องปัญหาชีวิตประจำวัน
2. บริการด้านสุขภาพ – การตรวจสุขภาพพื้นฐาน – การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายหรือการจัดเวิร์กช็อปเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตและสุขภาพกาย
3. กิจกรรมส่งเสริมความรู้และความสัมพันธ์ – การจัดอบรม สัมมนา หรือกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิต – การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนมหาวิทยาลัย
4. การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน – การรับมือกับปัญหาฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาและบุคลากร เช่น การประสานงานเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
5. การช่วยเหลือทางสังคม – การสนับสนุนผู้ที่มีปัญหาด้านการเงิน หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะทาง
©2023. Pibulsongkram Rajabhat University. All Rights Reserved.